See >>>
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=384643333230471&id=100050544214985
บาทดิจิทัล CBDC คืออะไร สรุปชัดๆ ให้เข้าใจ
เงินดิจิทัลเริ่มถูกยอมรับมากขึ้นทั่วโลก และสิ่งที่กำลังน่าสนใจอย่างมากในช่วงนี้ก็คือการที่หลายประเทศหันมาพัฒนา "สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ" หรือ CBDC เป็นของตัวเอง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นหนึ่งในนั้นกับแผนทดลองใช้ ‘บาทดิจิทัล’ สำหรับประชาชนภายในไตรมาส 2 ปีหน้า มาถึงตรงนี้ใครที่เริ่มสงสัยว่า CBDC และบาทดิจิทัลคืออะไร? เกี่ยวยังไงกับเรา FinSpace สรุปมาให้แล้ว
..
1. เข้าใจกันก่อน CBDC คืออะไร?
CBDC ย่อมาจาก Central Bank Digital Currency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ซึ่งจะคล้ายสกุลเงินที่เราใช้ทุกวัน เช่น ดอลลาร์ ยูโร หยวน หรือบาท แต่เปลี่ยนจากเงินกระดาษ สู่เงินในรูปแบบดิจิทัลบนเทคโนโลยี Blockchain
.
2. CBDC มีแล้วดียังไง?
ข้อดีของ CBDC จะช่วยลดต้นทุนของระบบชำระเงินในปัจจุบันที่เข้าถึงยาก และต้องผ่านตัวกลางคือธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้าแบงก์ชาติเข้ามาพัฒนาระบบตรงนี้เอง ก็จะช่วยลดการผูกขาดจากเอกชน ปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของประเทศด้วย
.
3. CBDC กับ Cryptocurrency เหมือนหรือต่างกันไหม?
คำตอบคือไม่เหมือนกัน เพราะ Crypto ทั้ง Bitcoin Ethereum Dogecoin เป็นระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง ไม่มีผู้กำกับดูแล มูลค่าของเหรียญขึ้นลงตามดีมาน-ซัพพลาย ทำให้ผันผวนสูง คนจึงมักใช้ลงทุนเพื่อเก็งกำไร
ต่างกับคอนเซ็ปต์ของ CBDC เงินดิจิทัลที่มีธนาคารกลางควบคุม ด้วยการผูกมูลค่าไว้กับค่าเงินหรือสินทรัพย์ เพื่อลดความผันผวน เหมาะกับการใช้แลกเปลี่ยนได้จริง หรือที่เรียกกันว่า Stablecoin นั่นเอง
.
4. แล้ว Libra ที่เป็น Stablecoin ถือว่าเป็น CBDC ไหม?
Libra หรือชื่อใหม่ Diem ถือว่าเข้าข่าย Stablecoin เพราะมีการประกันมูลค่าจากเงินสดในสกุลต่างๆ แต่ไม่ใช่ CBDC เนื่องจากออกโดยเอกชนอย่าง Facebook ไม่ได้ถูกกำกับภายใต้กฎหมายชำระเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ
.
5. ประเทศไหนที่เริ่มใช้ CBDC แล้วบ้าง?
หยวนดิจิทัล (DCEP) ของประเทศจีน คงเป็นชื่อที่คุ้นหูสุด เพราะเริ่มใช้จริงจังแล้วใน 4 เมืองเศรษฐกิจใหม่ คือ เสิ่นเจิ้น เฉิงตู ซูโจว และ เซียงอัน กับร้านค้าชื่อดัง อาทิ Starbucks, Subways และ McDonald’s
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศเริ่มพัฒนา CBDC ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน, แคนาดา, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศยุโรป, แอฟริกาใต้ แม้กระทั่ง 'บาทดิจิทัล' ของประเทศไทยนั่นเอง
.
6. บาทดิจิทัลในไทยไปถึงขั้นไหนแล้ว?
ไทยเริ่มมีการใช้ CBDC มาตั้งแต่ปี 2561 แต่ใช้ในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ในการโอนเงินล็อตใหญ่ระหว่างแบงก์ และทดลองโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง เพียงแต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในวงกว้างกับภาคประชาชน (Retail CBDC) เท่านั้นเอง
.
7. ประชาชนทั่วไปจะได้ใช้บาทดิจิทัลเมื่อไหร่?
คุณวชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่า CBDC ที่ใช้กับประชาชนทั่วไปจริงๆ คงต้องค่อยเป็นไปค่อยไป และเป็นแผนระยะยาว เพราะมีผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ในไตรมาส 2 ปี 2022 จะเริ่มทดลองใช้บาทดิจิทัลในวงที่จำกัดทั้งพื้นที่และจำนวนผู้ใช้งาน
.
8. รูปแบบของบาทดิจิทัลจะเป็นอย่างไร?
เบื้องต้นนั้นจะมีรูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย อาศัยตัวกลาง อาทิ สถาบันการเงินในการแลกเปลี่ยนกับประชาชน ซึ่งจะมีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนบาทดิจิทัลในจำนวนมากๆ
ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้บาทดิจิทัลของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเข้ามาเป็นทางเลือกในการชำระเงิน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ E-Money ได้บางส่วน
.
9. บาทดิจิทัล จะล้มธนาคารพาณิชย์จริงไหม?
เป็นประเด็นถกเถียงกันพอสมควรว่าเมื่อเราไม่จำเป็นต้องฝากถอนเงินสดอีกต่อไป แล้วบทบาทของธนาคารพาณิชย์จะเป็นอย่างไร? ถึงแม้ ธปท. จะยืนยันว่าการพัฒนา CBDC จะต้องไม่ไปสร้างอุปสรรคหรือเกิดความเสี่ยงต่อธนาคารพาณิชย์ก็ตาม
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.finnomena.com/blockchainreview/what-is-cbdc/
https://workpointtoday.com/cbdc-crypto-vs-bank/
https://thestandard.co/bot-prepare-to-start-trial-digital-baht-in-2q65/
..
--------------------------------------------
ติดตาม FinSpace เพิ่มเติมได้ที่
Website: http://bit.ly/2lxvlhY
LINE: http://bit.ly/2qL8S48
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
#trends #CBDC #บาทดิจิทัล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น